วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เทศกาลกินเจ

 เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) ของทุกปี เราจะเห็นธงสีเหลือง ๆ มีตัวอักษรจีนประดับอยู่ตามร้านอาหาร และที่ต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ว่า เริ่มเข้าสู่เทศกาลกินเจแล้ว สำหรับเทศกาลกินเจ ปี 2554 เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 เดือนกันยายน ถึง วันที่ 5 ตุลาคม 2554 แต่บางคนอาจกินเจล่วงหน้า 1 วัน หรือที่เรียกว่า "ล้างท้อง" นั่นเอง สำหรับวันนี้เรามีความรู้เกี่ยวกับเทศกาลกินเจมาฝากค่ะ ...

ความหมายของเจ
          คำว่า "เจ" ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีความหมายว่า "อุโบสถ" เดิมหมายความว่า "การรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน" ตามแบบอย่างของชาวพุทธที่รักษาอุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 ที่จะไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว แต่สำหรับพุทธนิกายมหายานนั้น การรักษาอุโบสถศีลจะรวมถึงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ด้วย เราจึงนิยมเรียกการไม่ทานเนื้อสัตว์รวมไปกับการกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า "กินเจ" ดังนั้นความหมายของคนกินเจ ไม่เพียงแต่ไม่ทานเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ

          "การกินเจ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึง การถือศีลอย่างญวนและจีนที่ไม่กินของสดคาว แต่บริโภคอาหารประเภทผักที่ไม่มีของสดของคาวผสม ซึ่งมาจากรากศัพท์คำภาษาจีนที่ว่า "เจียฉ่าย" หมายถึง การกินอาหารผัก อาหารที่มาจากพืชผักธรรมชาติ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปน และไม่ปรุงด้วยผักฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ และงดเว้นน้ำนมสด นมข้นด้วย เพราะถือว่าเป็นของสดของคาว

ช่วงเวลากินเจ
          ประเพณีกินเจที่ชาวจีนเรียกกันว่า "เก้าอ๊วงเจ" หรือ "กิ้วอ๊วงเจ" แปลว่า "เจเดือน 9" เริ่มต้นในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน รวม 9 วัน 9 คืน ตรงกับเดือน 11 หรือเดือนตุลาคมของไทย (ตามปฏิทินสากล) สำหรับในปี พ.ศ.2554 นี้ เริ่มวันที่ 27 กันยายน – 5 ตุลาคม

          คำว่า "เก้าอ๊วง" หรือ "กิ้วอ๊วง" แปลว่า "พระราชา 9 องค์" หรือนพราชา หมายถึงผู้เป็นใหญ่ทั้ง 9 ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีกินผักกินเจ

ความหมายของ "ธงเจ"

          ในช่วงเทศกาลกินเจ เราจะสังเกตเห็นธงประจำเทศกาล โดยมีพื้นธงเป็นสีเหลืองซึ่งเป็นสีที่อนุญาตให้ใช้กับคนสองกลุ่มเท่านั้น คือกลุ่มกษัตริย์ ราชวงศ์ และกลุ่มอาจารย์ปราบผี ดังจะเห็นจากยันต์สีเหลืองตามภาพยนตร์จีน ดังนั้นสีเหลืองจึงเป็นสีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล บนธงจะเขียนตัวอักษรสีแดง อ่านว่า "ไจ" หรือ "เจ" มีความหมายว่า "ของไม่มีคาว" เหตุที่ใช้สีแดง เพราะชาวจีนเชื่อว่า เป็นสีมงคง สร้างความเจริญให้แก่ชีวิต
กินเจเพื่ออะไร

          จุดประสงค์หลักของการกินเจ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ

           1. กินเพื่อสุขภาพ เพราะอาหารเจเป็นอาหารชีวจิต เมื่อกินติดต่อกัน จะทำให้ร่างกายสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่างๆ ออกจากร่างกายได้ และปรับระบบต่างๆ ในร่างกายให้มีเสถียรภาพ

           2. กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากทุกๆ วัน อาหารที่เรากินประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้ที่มีจิตใจดีงามจึงไม่สามารถกินเนื้อของสัตว์เหล่านั้นได้ 

           3.กินเพื่อเว้นกรรม เพราะการฆ่าเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรม แม้จะไม่ได้ลงมือฆ่าเองก็ตาม เพราะการซื้อผู้อื่นเท่ากับการจ้างฆ่า ถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย ผู้ที่เข้าใจเรี่องกฎแห่งกรรมจึงหยุดกิน หันมารับประทานอาหารเจแทน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่ให้อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น

ตำนานการกินเจ

          ตำนานที่มาของการกินเจ มีเรื่องเล่าอยู่ถึง 7 เรื่องได้แก่

           ตำนานที่ 1 รำลึกถึงวีรชนทั้ง 9

          เทศกาลกินเจเริ่มขึ้นเมื่อ 400 กว่าปีที่แล้ว โดยชาวจีนกินเจเป็นการบำเพ็ญกุศลเพื่อรำลึกถึงวีรชน 9 คน ซึ่งเรียกว่า "หงี่หั่วท้วง" ซึ่งได้ต่อสู้กับชาวแมนจูผู้รุกรานอย่างกล้าหาญ ถึงแม้จะแพ้และต้องตายก็ตาม ดังนั้นเมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของชาวแมนจู จึงพากันนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึงเหล่านักสู้ "หงี่หั่วท้วง" ที่ได้ต่อสู้พลีชีพในครั้งนั้น เพราะเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยชำระจิตวิญญาณเกิดความเข้มแข็งทางร่างกายและจิตใจ

           ตำนานที่ 2 บูชาพระพุทธเจ้า
          เชื่อว่า เป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการะบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า "ดาวนพเคราะห์" ทั้ง 9 ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ ในพิธีกรรมบูชานี้ สาธุชนในพระพุทธศาสนาจะสละเวลาทางโลกมาบำเพ็ญศีล งดเว้นเนื้อสัตว์ และแต่งกายด้วยชุดขาว

           ตำนานที่ 3 เก้าอ๊องฝ่ายมหายาน

          กล่าวไว้ว่า การกินเจเป็นพิธีปฏิบัติที่สืบต่อกันมาของชาวจีนในประเทศไทย เพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ ดังมีในพระสูตร ปั๊กเต๊าโก๋ว ฮุดเชียวไจเอียงชั่วเมียวเกง กล่าวไว้คือ พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ พระศรีรัตนโลกประภาโมษอิศวรพุทธะ พระเวปุลลรัตนโลกวรรณสิทธิพุทธะ พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ พระเวปุลลจันทรโภคไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ คือพระศรีสุขโลกปัทมอรรถอลังการโพธิสัตว์และพระศรีเวปุลกสังสารโลกสุขอิศวรโพธิสัตว์ รวมเป็น 9 พระองค์ (หรือ "เก้าอ๊อง")

          ทรงตั้งปณิธานจักโปรดสัตว์โลก จึงได้แบ่งกายมาเป็นเทพเจ้า 9 พระองค์ด้วยกันคือ ไต้อวยเอี๊ยงเม้งทัมหลังไทแชกุน ไต้เจียกอิมเจ็งกื้อมึ้งงวนแชกุน ไต้กวนจิงหยิ้งลุกช้งเจงแชกุน ไต้ฮั่งเฮี่ยงเม้งม่งเคียกนิวแชกุน ไต้ปิ๊กตังง้วนเนี้ยบเจงกังแชกุน ไต้โพ้วปั๊กเก๊กบู๊เอียกกี่แชกุน ไต้เพียวเทียนกวนพัวกุงกวนแชกุน ไต้ตั่งเม้งงั่วคูแชกุน ฮุ้ยกวงไตเพียกแชกุน เทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์ ทรงอำนาจตบะอันเรืองฤทธิ์บริหารธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ทั่วทุกพิภพน้อยใหญ่สารทิศ

           ตำนานที่ 4 พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้อง

          เชื่อว่า การกินเจกินเจเป็นการบูชากษัตริย์เป๊ง กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ้องซึ่งสิ้นพระชนม์โดยทรงทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) ในขณะที่เสด็จไต้หวันโดยทางเรือ เมื่อมีพระชนนมายุได้ 9 พรรษา พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้องนี้ มีแต่เฉพาะในมณฑลฮกเกี้ยนซึ่ง เป็นดินแดนผืนสุดท้ายของราชวงศ์ซ้องเท่านั้น โดยชาวฮกเกี้ยนได้จัดทำพิธีดังกล่าวนี้ขึ้นด้วยการอาศัยศาสนาบังหน้าการเมือง ประเพณีนี้เข้ามาสู่เมืองไทยโดยชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพจากฮกเกี้ยนนำมาเผยแผ่อีกทอดหนึ่ง

           ตำนานที่ 5 เล่าเอี๋ย

          เมื่อ 1,500 ปีก่อน ณ มณฑลกังไสซึ่งเป็นแดนแห่งความเจริญรุ่งเรือง ฮ่องเต้เมืองนี้มีพระราชโอรส 9 พระองค์ซึ่งเก่งทั้งบุ๋น บู๊ ทำให้หัวเมืองต่างๆ ยอมสวามิภักดิ์ ยกเว้นแคว้นก่งเลี้ยดที่มีอำนาจเข้มแข็ง และมีกองกำลังทหารที่เหนือกว่า ทั้งสองแคว้นทำศึกกันมาถึงครั้งที่ 4 แคว้นก่งเลี้ยดชนะโดยการทุ่มกองกำลังทหารที่มากกว่าหลายเท่าตัว โอบล้อมกองทัพพระราชโอรสทั้งเก้าไว้ทุกด้าน แต่กองทัพก่งเลี้ยดไม่สามารถบุกเข้าเมืองได้จึงถอยทัพกลับ จนวันหนึ่งชาวกังไสเกิดความแตกสามัคคีและเอาเปรียบกัน เทพยดาทราบว่า อีกไม่นานกังไสจะเกิดภัยพิบัติจึงหาผู้อาสาช่วย แต่ชาวบ้านจะพ้นภัยได้ก็ต่อเมื่อได้สร้างผลบุญของตนเอง ดวงวิญญาณพระราชโอรสองค์โตรับอาสา และเพ่งญาณเห็นว่า ควรเริ่มที่บ้านเศรษฐีใจบุญลีฮั้วก่าย

          คืนวันหนึ่งคนรับใช้แจ้งเศรษฐีลีฮั้วก่ายว่า มีขอทานโรคเรื้อนมาขอพบ เศรษฐีจึงมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เป็นค่าเดินทาง แต่ขอทานไม่ไป และประกาศให้ชาวเมืองถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ผู้ใดทำตามภัยพิบัติจะหายไป เศรษฐีนำมาปฏิบัติก่อน และผู้อื่นจึงปฏิบัติตาม จนมีการจัดให้มีอุปรากรเป็นมหรสพในช่วงกินเจด้วย

          เล่าเอี๋ยเกิดศรัทธาประเพณีกินเจของมณฑลกังไส จึงได้ศึกษาตำราการกินเจของ เศรษฐีลีฮั้วก่ายที่บันทึกไว้ แต่ได้ดัดแปลงพิธีกรรมบางอย่างให้รัดกุมยิ่งขึ้นและให้มีพิธียกอ๋องฮ่องเต้ (พิธีเชิญพระอิศวรมาเป็นประธานในการกินเจ) ภูเก็ต เมืองแห่งเทศกาลเจ


          จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่จัดประเพณีการกินเจอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆ ปี โดยมาจากรากฐานความเชื่อเดียวกัน คนจีนเรียก "เจเดือนเก้า" แต่ถ้านับตรงกับเดือนไทยก็จะได้ตรงกับเดือน 11 ดังนั้นเทศกาลกินเจที่ภูเก็ตจึงมีขึ้นหลังเทศกาลกินเจทั่วๆไป บางครั้งเราจึงมักได้ยินชื่อเรียกของเทศกาลกินเจที่ภูเก็ตว่า เป็นเทศกาลกินผัก ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือการกินเจในรูปแบบ และระยะเวลา 9 วันเช่นเดียวกัน

10 วันของเทศกาลกินเจ
          ประเพณีกินเจจะจัด 9 วัน 9 คืน โดยแต่ละวันมีพิธีต่างๆ กันดังนี้

           วันแรก แต่ละศาลเจ้าก็จะดูฤกษ์ยามว่า จะเชิญเจ้ามาเวลาไหน แต่ไม่เกินเที่ยงวัน โดยใช้ "ปวย" 2 อันเสี่ยงทายโดยการโยน 2 ครั้ง หาก 1 อันหงาย 1 อันคว่ำ แสดงว่า เจ้าทั้ง 9 ได้เสด็จลงมาแล้ว การกินเจจะเริ่มขึ้น แต่คนส่วนใหญ่มักทานกันล่วงหน้าเพื่อล้างท้อง

          ที่ภูเก็ตในตอนกลางคืนจะมีพิธียกเสา "โกเด้ง" ขึ้นที่หน้าศาลเจ้า หรืออ๊าม เพื่อใช้เป็นที่แขวนตะเกียงทั้ง 9 ดวง และอัญเชิญดวงวิญญาณของยกอ๋องฮ่องเต้ หรือ พระอิศวร และ กิวอ๋องไตเต หรือ ราชาผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้ามาประทับ

           เช้าวันที่สอง จะมีการจุดธูปขนาดใหญ่ ตั้งเครื่องเซ่นและเผาไม้หอม เพื่อบูชาเจ้าประจำอ๊าม

          หลังพิธีการกินเจ หรือชาวภูเก็ตเรียก "การกินผัก" ผ่านไป 3 วัน จะถือว่าตัวเองมีความสะอาดแล้ว หรือเรียกว่า "เช้ง" ในตอนค่ำมีพิธีการเชิญเจ้าเข้าทรงอีก 2 องค์ คือ "ลำเต้า" เจ้าผู้สำรวจคนเกิด และ "ปักเต้า" เจ้าผู้สำรวจคนตาย และทำพิธี "ปั้งกุ้น" หรือพิธีปล่อยพระ หรือการจัดทหารของเจ้าไปรักษาศาลเจ้าทั้ง 5 ทิศ เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย และภูตผีมาทำลายพิธี ความสนุกสนานเริ่มขึ้นตรงนี้ เมื่อการเชิญทหารเต็มไปด้วยร่างทรงของตัวละคร อาทิ เห้งเจีย บู๊สง เป็นต้น

           วันที่สี่ เป็นวันที่คนส่วนใหญ่จะมาไหว้เจ้า วันนี้ศาลเจ้าต่างๆ จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน

           ในวันที่เจ็ด จะเริ่มพิธีบูชาดาว เพื่อขอความเป็นสิริมงคล รักษาโรคภัยไข้เจ็บ เป็นอีกวันหนึ่งที่มีการไหว้เจ้า แต่วันนี้สำคัญกว่าวันที่สี่ เรียกว่า "ไหว้เจ้าใหญ่" ในวันนี้จะมีการซื้อเต่า, ปลาไหล, นก ฯลฯ มาไหว้ด้วย

           วันที่แปด วันนี้จะมีการลอยกระทง คล้ายการลอยกระทงของคนไทย เพื่อขอบคุณเจ้าแม่คงคาที่ให้น้ำใช้ น้ำดื่ม และให้สิ่งไม่ดีลอยไปตามน้ำ นอกจากนี้ที่ภูเก็ตยังมีการจัดขบวนแห่อย่างมโหฬาร เพื่อนำเกี้ยวไปรับพระจำหลักที่สะพานหิน เป็นการระถึงวันที่ควันธูปจากมณฑลกังไสมาถึงภูเก็ต ในขบวนแห่จะมีการแสดงอิทธิฤทธิ์ของม้าทรง หรือ คนทรงเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จะเห็นภาพของการใช้ของมีคมต่างๆ ทิ่มแทงตามร่างกาย มีทั้งง้าว ลูกตุ้มเหล็กฟาดหน้าฟาดหลัง เอาขวานจามหลัง หรือเอาเหล็กแหลมทิ่มแทงร่างกาย หรือแทงลิ้น จนกระทั่งเฉือนลิ้นตัวเองออกมา โดยทรงเหล่านั้นอ้างว่าไม่มีความเจ็บปวดใดๆ ขณะเป็นร่างทรง ม้าทรงจะเดินเต้นไปทั่วเมือง ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้ เพื่อให้เจ้าไปโปรดและมีการจุดประทัดตลอดเส้นทาง ทั้งเกาะปกคลุมด้วยควันธูปและประทัด

           วันที่เก้า ช่วงเช้าจะมีพิธีทำทาน หรือเรียกว่า "ซิโกว" เป็นการให้ทานแก่ผีไม่มีญาติ ตอนกลางคืนจะมีแห่มังกร, สิงโต, ขบวนของเด็กที่จัดเพื่อเป็นสีสัน 

          ขณะที่จังหวัดภูเก็ตจะมีพิธีศักดิ์สิทธิ์ คือ พิธี "โก๊ยโห้ย" หรือพิธีลุยไฟสะเดาะเคราะห์ ม้าทรง หรือเจ้าจะเดินผ่านกองไฟ ที่มีถ่านร้อนแดงเป็นระยะทางกว่า 2 ฟุต และตามด้วยผู้ที่ถือศีลกินเจที่มีความมั่นใจว่าตัวเองสะอาดแล้ว ก็สามารถร่วมลุยไฟได้ด้วยเช่นกัน ในตอนกลางคืนจะมีพิธีปีนบันไดมีด สูงประมาณ 12 เมตร และจบลงที่ยามดึกของคืนวันที่ 9 จะมีการแห่พระไปส่งทะเลบริเวณสะพานหิน และนำเสาโกเต้งลง ดับโคมไฟทั้ง 9 เป็นเสร็จพิธีกินเจที่ภูเก็ต

           วันที่สิบ เป็นวันส่งเจ้ากลับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น